วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2554

พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

                                       พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา

                  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักดีว่า การพัฒนาการศึกษาของเยาวชนนั้น เป็นพื้นฐานอันสำคัญของประเทศชาติ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์จัดตั้งมูลนิธิอานันทมหิดล ให้เป็นทุนสำหรับการศึกษาในแขนงวิชาต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาได้มีทุนออกไปศึกษา หาความรู้ต่อในวิชาการชั้นสูงในประเทศต่างๆ โดยไม่มีเงื่อนไขข้อผูกพันแต่ประการใด เพื่อที่จะได้นำความรู้นั้นๆ กลับมาใช้พัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
                       นอกเหนือไปจากนี้แล้ว ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการจัดทำ สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนขึ้น สารานุกรมชุดนี้ มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากสารานุกรมชุดอื่นๆ ที่ได้เคยจัดพิมพ์มาแล้ว กล่าวคือ เป็นสารานุกรมอเนกประสงค์ที่บรรจุเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นสาระไว้ครบทุกแขนงวิชา โดยจัดแบ่งเนื้อหาของแต่ละเรื่องออกเป็นสามระดับ เพื่อที่จะให้เยาวชนแต่ละรุ่น ตลอดจนผู้ใหญ่ที่มีความสนใจ สามารถที่จะศึกษาค้นคว้าหาความรู้ ได้ตามความเหมาะสมของพื้นฐานความรู้ ของแต่ละคน โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละสาขาวิชา การอุทิศเวลาและความรู้ เพื่อสนองพระราชดำริ โดยร่วมกันเขียนเรื่องต่างๆ ขึ้น แบ่งออกเป็น 4 สาขาวิชา คือ    วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์


                       ทรงก่อตั้งกองทุนนวฤกษ์ ในมูลนิธิช่วยนักเรียนที่ขาดแคลน ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อช่วยให้นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาในระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา ทั้งยังพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นทุนริเริ่มในการก่อสร้างโรงเรียนตามวัดในชนบท สำหรับที่จะสงเคราะห์เด็กยากจนและกำพร้า ให้ได้มีสถานที่สำหรับศึกษาเล่าเรียน โดยอาราธนาพระภิกษุเป็นครูสอนในวิชาสามัญต่างๆ ที่ไม่ได้ขัดต่อพระธรรมวินัย ตลอดจนช่วยอบรมศีลธรรมแก่เด็กนักเรียน ทั้งนี้ เป็นพระราชประสงค์ที่จะให้เด็กนักเรียน ได้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับการศึกษาควบคู่กันไป อันจะทำให้เยาวชนของชาติ นอกจากจะมีความรู้ด้านวิชาการแล้ว ยังจะทำให้มีจิตใจที่ดี ที่ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม เพื่อที่จะได้เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติต่อไป ในอนาคต


                       โรงเรียนร่มเกล้า ก็เป็นสถานศึกษาในระดับมัธยมศึกษา ในหลายจังหวัดที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริ ที่จะให้ทหารออกไปปฏิบัติภารกิจในท้องที่ทุรกันดาร ได้ทำประโยชน์ต่อชุมชน และมีส่วนช่วยเหลือประชาชนในด้านการศึกษา ตามโอกาสอันควร โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้ทหารจัดสร้างโรงเรียนขึ้นในจังหวัดนครพนม จังหวัดสกลนคร จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นต้น


                        เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนสถานศึกษาสำหรับเยาวชน และยังเป็นการส่งเสริมความเข้าใจอันดี ระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารที่ไปปฏิบัติภารกิจในพื้นที่นั้นๆ กับราษฎรเจ้าของท้องที่อีกโสตหนึ่งด้วย ซึ่งในการดำเนินงานจัดสร้างโรงเรียน ทางฝ่ายทหารได้ติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และฝ่ายศึกษาธิการ เพื่อเลือกสถานที่ตั้งโรงเรียนที่เหมาะสมกับความจำเป็นที่สุด ซึ่งปรากฎว่าราษฎรในท้องที่ที่มีการสร้างโรงเรียน ได้พากันร่วมอุทิศแรงกายช่วยในการก่อสร้าง ตลอดจนอุทิศทุนทรัพย์สมทบเป็นทุนในการจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ที่จะนำไปใช้ในการก่อสร้างโรงเรียน เพื่อเป็นการโดยเสด็จพระราชกุศลด้วย และเมื่อการก่อสร้างโรงเรียนแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโรงเรียนเหล่านั้น พร้อมทั้งพระราชทานนามว่า โรงเรียนร่มเกล้า ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งโรงเรียนระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา




                                      พระราชกรณียกิจด้านการแพทย์

                    ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามท้องที่ต่างๆ ทุกครั้ง จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีคณะแพทย์ที่ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจากโรงพยาบาลต่างๆ และล้วนเป็นอาสาสมัครทั้งสิ้น โดยเสด็จพระราชดำเนินไปในขบวนอย่างใกล้ชิด พร้อมด้วยเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ครบครัน พร้อมที่จะให้การรักษาพยาบาลราษฎร ผู้ป่วยไข้ได้ทันที
                        นอกจากนั้น ยังมีโครงการทันตกรรมพระราชทาน ซึ่งเป็นพระราชดำริที่ให้ทันตแพทย์อาสาสมัคร ได้เดินทางออกไปช่วยเหลือบำบัดโรคเกี่ยวกับฟัน ตลอดจนสอนการรักษาอนามัยของปากและฟัน แก่เด็กนักเรียนและราษฎรที่อาศัยอยู่ในท้องที่ทุรกันดาร และห่างไกลจากแพทย์ทั่วทุกภาค โดยให้การบริการรักษาโรคฟัน โดยไม่คิดมูลค่าในการแพทย์เคลื่อนที่


                         สำหรับการเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมวัดทุกแห่ง ซึ่งนับเป็นศูนย์กลางของชุมชนในชนบท โดยจะพระราชทานกล่องยาแก่วัด เพื่อพระภิกษุใช้เมื่อเกิดอาพาธ และเพื่อแจกจ่ายแก่ราษฎรผู้ป่วยเจ็บในหมู่บ้านนั้นๆ ส่วนในการเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมหน่วยทหาร ตำรวจ และอาสาสมัคร ที่ออกไปตั้งฐานปฏิบัติการในท้องที่ทุรกันดาร ก็จะพระราชทานสิ่งของที่จำเป็นต่างๆ รวมทั้งยารักษาโรคสำหรับใช้ในหมู่เจ้าหน้าที่ และใช้ในการรักษาพยาบาล และเพื่อแจกจ่ายแก่ราษฎรในท้องที่ ที่มาขอความช่วยเหลือ อันจะทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปราม และประชาชนในพื้นที่ปฏิบัติการ ได้มีความเข้าใจอันดีต่อกัน รู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน


                          ทางด้านหน่วยแพทย์หลวงที่จะต้องตามเสด็จพระราชดำเนินไป ณ ที่ประทับแรมทุกแห่งนั้น จะมีเจ้าหน้าที่ให้การรักษาพยาบาลราษฎร ผู้มาขอรับการรักษา ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่ประการใด นอกจากนั้น หน่วยแพทย์หลวงยังจัดเจ้าหน้าที่ออกเดินทาง ไปรักษาราษฎรผู้ป่วยเจ็บ ตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลออกไปอีกด้วย โดยได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ซึ่งเป็นผู้แนะนำสถานที่และร่วมเดินทางไปด้วย สำหรับราษฎรผู้เจ็บป่วยรายที่มีอาการหนัก หรือจำเป็นที่จะต้องได้รับการตรวจรักษาเพิ่มเติมนั้น ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จพระราชดำเนิน ทำการบันทึกรายชื่อ อาชีพ ที่อยู่ และอาการโดยละเอียด โดยตรวจสอบความถูกต้องกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และมีสำเนาให้รับทราบเพื่อติดต่อประสานงานต่อไป ในการพิจารณาส่งผู้ป่วยไปรับการรักษาต่อ ตามความเห็นของแพทย์ผู้ทำการตรวจ




                                       พระราชกรณียกิจด้านพลังงานทดแทน 

                 พระปรีชาสามารถและแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านการพัฒนาพลังงานนั้น ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศไทยอย่างกว้างขวาง พระองค์ทรงริเริ่มการพัฒนาเชื้อเพลิงน้ำมันจากวัสดุการเกษตรมาเป็นเวลานานร่วม ๒๐ ปีแล้ว

                 สำหรับประเทศไทย นับว่าเราโชคดีอย่างยิ่งที่ได้เกิดมาและอาศัยอยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้เปี่ยมด้วยพระเมตตาและทรงปรีชาสามารถในทุกด้าน

                 พระองค์ทรงมีสายพระเนตรอันกว้างไกล ได้พระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาและทดลองใช้เชื้อเพลิงเหลว ซึ่งสกัดจากพืชมาเป็นเวลาประมาณ ๒๐ ปีแล้ว โดยใช้แอลกอฮอล์ผสมในน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซล รวมทั้งการใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ในเครื่องยนต์ดีเซล เพื่อแปรผลิตผลจากภาคการเกษตรให้เป็นพลังงานทดแทน อันจะช่วยประหยัดเงินตราของประเทศจากการนำเข้า พร้อมกับแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรในขณะเดียวกัน
                 พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ได้สร้างความซาบซึ้งและประทับใจแก่มวลพสกนิกรอย่างหาที่สิ้นสุดมิได้ โดยสิ่งประดิษฐ์ที่พระองค์ได้ทรงค้นคว้าวิจัยและสร้างสรรค์ขึ้น ล้วนเป็นประโยชน์แก่อาณาประชาราษฎร์และต่อประเทศนานัปการ ดังนั้น ในงานนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ Brussels Eureka ๒๐๐๑ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ผลงานของพระองค์จำนวน ๓ ผลงาน ประกอบด้วยแนวพระราชดำริ “ทฤษฎีใหม่” “โครงการฝนหลวง” และ “โครงการน้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม” จึงได้รับการประกาศสดุดีเทิดพระเกียรติคุณให้เป็นผลงานแนวคิดใหม่ในการพัฒนาประเทศพร้อม ประกาศนียบัตร ถ้วยรางวัลและเหรียญทอง อันนำมาศซึ่งความปลาบปลื้มปิติยินดีให้เกิดแก่ประชาชนชาวไทยทั้งมวล


                                                             โครงการหลวง

                 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งกับผู้เข้าเฝ้าฯราวร้อยคน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐานว่า โครงการหลวงเกิดขึ้นเพราะท่านไปเที่ยว คำว่า “ไปเที่ยว” นี้ เราท่านน่าจะว่า “ประพาสต้น” มากกว่า เพราะนอกจาก จะเป็นราชาศัพท์ที่ถูกต้อง แต่ออกจะไม่ใช้กันแล้ว ยังทำให้เราเห็นภาพ พระพุทธเจ้าหลวงเวลาเสด็จประพาสต้น ไปเที่ยวบ้านชาวบ้านโดยที่เขาไม่ทราบว่าท่านเป็นใครจึงไม่ประหม่ามาก คุยคล่องถึงการกินอยู่ ทำให้ท่านสามารถพระราชทานความช่วยเหลือได้ตามพระราชอัชฌาสัย

                 ส่วนพระราชนัดดา คือ รัชกาลที่ 9 ของเรานี้ เมื่อทรงแปรพระราชฐานไปเชียงใหม่เพื่อทรงตากอากาศ จะเสด็จไปหน้าหนาวจึงเรียกว่าพักร้อนอย่างที่ใครๆ เขามักจะเรียกกันไม่ได้ นอกจากนี้ ท่านไม่ได้ทรงพักแต่มักจะเสด็จดั้นด้นไปทอดพระเนตรชีวิตของคนบนดอย ซึ่งสำหรับคนอื่นๆ ยังกับว่าอยู่คนละโลกกับเรา เช่นราว 30 ปีมาแล้วจะไปพระธาตุดอยสุเทพ มีถนนลูกรังที่รถยนต์ขึ้นได้แต่ลำบาก จากนั้น ถ้าจะไปบ้านแม้วดอยปุยก็ต้องเดินเอา นอกจากจะจ้างเสลี่ยงนั่งให้เขาหาบโยกเยกไป ในเมื่อระยะใกล้ๆ ต้องใช้เวลานาน เดินทางเช่นนี้ ดอยจึงพ้นหูพ้นตาของคนไทยส่วนมาก โดยเฉพาะพวกเกษตร เว้นแต่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โครงการหลวง (Royal project)


                 เป็นโครงการส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแก่ชาวเขา เพื่อเป็นการหารายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2512 โดยหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับผิดชอบในฐานะประธานมูลนิธิโครงการหลวง


                ในระยะแรก เป็นโครงการอาสาสมัคร โดยมีอาสาสมัคร จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกองทัพอากาศ ปัจจุบันโครงการหลวง ดำเนินงานใน 4 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา และแม่ฮ่องสอน มีสถานีวิจัยหลัก 6 สถานี และสถานีส่งเสริมปลูกพืชทดแทนฝิ่น เรียกว่า ศูนย์พัฒนาโครงการ จำนวน 21 ศูนย์ และหมู่บ้านพัฒนาอีก 6 หมู่บ้าน รวมหมู่บ้านในเขตปฏิบัติการทั้งสิ้น 267 หมู่บ้าน


                 ผลผลิตจากโครงการหลวงในปัจจุบัน ประกอบด้วย ผักปลอดภัยสารพิษ สมุนไพร ถั่วและธัญพืช ผลไม้ เห็ด ดอกไม้เมืองหนาว ผลิตผลปศุสัตว์ ผลิตผลประมง ผลิตผลป่าไม้ ดอกไม้แห้ง ผลิตภัณฑ์จากแฝก ไม้กระถาง และผลิตภัณฑ์แปรรูปในชื่อการค้า ดอยคำ

                พระราชกรณียกิจด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

                   โดยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นประมุขของประเทศ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ หลายประเทศ ทั้งในทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป และทวีปอเมริกาเหนือ เพื่อเป็นการเจริญทางพระราชไมตรีระหว่างประเทศไทย กับบรรดามิตรประเทศเหล่านั้น ที่มีความสัมพันธ์อันดีอยู่แล้ว ให้มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทรงนำความปรารถนาดีของประชาชนชาวไทย ไปยังประเทศต่างๆ นั้นด้วย ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างไกลมากยิ่งขึ้น นับว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมหาศาล และประเทศต่างๆ ที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเจริญทางพระราชไมตรีนั้น มีดังนี้

         • เวียดนามใต้ ระหว่างวันที่ ๑๘-๒๑ ธันวาคม ๒๕๐๒ ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศครั้งแรก ในรัชกาลปัจจุบัน

         • สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ ๘-๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๓

         • สหภาพพม่า ระหว่างวันที่ ๒-๕ มีนาคม ๒๕๐๓

         • สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ ๑๔ มิถุนายน - ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๐๓

         • อังกฤษ ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๓ กรกฎาคม ๒๕๐๓
         • สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ระหว่างวันที่ ๒๕ กรกฎาคม - ๒ สิงหาคม ๒๕๐๓

         • สาธารณรัฐโปรตุเกส ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๕ สิงหาคม ๒๕๐๓

         • สวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ ๒ช-๓๑ สิงหาคม ๒๕๐๓

         • เดนมาร์ก ระหว่างวันที่ ๖-๙ กันยายน ๒๕๐๓
         • นอร์เวย์ ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๑ กันยายน ๒๕๐๓

         • สวีเดน ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๕ กันยายน ๒๕๐๓

         • สาธารณรัฐอิตาลี ระหว่างวันที่ ๒๘ กันยายน - ๑ ตุลาคม ๒๕๐๓

         • นครรัฐวาติกัน เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๐๓

         • เบลเยี่ยม ระหว่างวันที่ ๔-๗ ตุลาคม ๒๕๐๓

         • สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ ๑๑-๑๔ ตุลาคม ๒๕๐๓

         • ลักเซมเบอร์ก ระหว่างวันที่ ๑๗-๑๙ ตุลาคม ๒๕๐๓

         • เนเธอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๗ ตุลาคม ๒๕๐๓

         • สเปน ระหว่างวันที่ ๓-๘ พฤศจิกายน ๒๕๐๓

         • สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ระหว่างวันที่ ๑๑-๒๒ มีนาคม ๒๕๐๕

         • สหพันธรัฐมลายา ระหว่างวันที่ ๒๐-๒๗ มิถุนายน ๒๕๐๕

         • นิวซีแลนด์ ระหว่างวันที่ ๑๘-๒๖ สิงหาคม ๒๕๐๕

         • ออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ ๒๖ สิงหาคม - ๑๒ กันยายน ๒๕๐๕

         • ญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ ๒๗ พฤษภาคม - ๕ มิถุนายน ๒๕๐๖
         • สาธารณรัฐจีน ระหว่างวันที่ ๕-๘ มิถุนายน ๒๕๐๖

         • สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ ๙-๑๔ กรกฎาคม ๒๕๐๖
         • สาธารณรัฐออสเตรีย ระหว่างวันที่ ๒๙ กันยายน - ๕ ธันวาคม ๒๕๐๗

         • สาธารณรัฐเยอรมัน ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๘ สิงหาคม ๒๕๐๙ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนครั้งที่สอง

         • สาธารณรัฐออสเตรีย ระหว่างวันที่ ๒๙ กันยายน - ๒ ตุลาคม ๒๕๐๙
ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนครั้งที่สอง

         • อิหร่าน ระหว่างวันที่ ๒๓-๓๐ เมษายน ๒๕๑๐

         • สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ ๖-๒๐ มิถุนายน ๒๕๑๐
ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนครั้งที่สอง

         • แคนาดา ระหว่างวันที่ ๒๑-๒๔ มิถุนายน ๒๕๑๐
         • สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างวันที่ ๘-๙ เมษายน ๒๕๓๗
               เมื่อเสร็จสิ้นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ แล้ว ก็ได้ทรงต้อนรับพระราชอาคันตุกะ ที่เป็นประมุขของประเทศต่างๆ ที่เสด็จและเดินทางมาเยือนประเทศไทยเป็นการตอบแทน และบรรดาพระราชอาคันตุกะทั้งหลาย ต่างก็ประทับใจในพระราชวงศ์ของไทย ตลอดจนประชาชนชาวไทยอย่างทั่วหน้า



                       พระราชกรณียกิจด้านภาษาและวรรณกรรม

              พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถโดดเด่นในด้านภาษา พระองค์ทรงเจริญวัย
ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงทรงภาษาฝรั่งเศสและเยอรมันได้เป็นอย่างดี ต่อมา ทรงตระหนักว่า ประเทศต่างๆ ทั่วโลกนิยมใช้ภาษา
อังกฤษในการสื่อสาร จึงสนพระราชหฤทัยหันมาทรงศึกษาภาษาอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงเข้าถึงพื้นฐานของภาษาและ
ทรงคุ้นเคยในการใช้ภาษานี้ถึงระดับที่ทรงได้ดีเป็นพิเศษ และยังทรงสนพระราชหฤทัยในการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องตามหลักนิรุติศาสตร์ เมื่อทรงมีเวลาว่างจะทรงพระอักษรและทรงพระราชนิพนธ์แปลบทความจากวารสารภาษาต่างประเทศ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๗ ทรงแปลหนังสือเรื่อง
นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ (A Man Called Intrepid) ของ วิลเลียม สตีเวนสัน เป็นภาษาไทย ในปีต่อมาทรงแปลหนังสือเรื่อง ติโต (Tito) ซึ่งเป็นชีวประวัติ
ของ นายพลติโต ประพันธ์โดย ฟิลลิสออติ

             พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกแปลผลงานของ วิลเลียม สตีเวนสัน เพราะเป็นเรื่องที่ได้อรรถรสเกี่ยวกับกระบวนการความคิดเห็นและการตัดสินใจของคน โดยละเอียดรวมทั้งแสดงให้เห็นความกล้าหาญ และความมุ่งมั่นของพวกสายลับฝ่ายพันธมิตรระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองที่ไม่เปิดเผยตัว หรือมองอีกแง่มุมหนึ่ง
จะเห็นพลังของความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งในเดียวกันของฝ่ายพันธมิตร และความเสียสละอัตตาของตน เพื่อให้บรรลุผล คือความเป็นเอกภาพให้จงได้ นอกจากนี้ ในบทพระราชนิพนธ์ เรื่อง Buddhist Economics พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำสาระบางตอนจากเรื่อง Small is Beautiful ประพันธ์โดย อี เอฟ ชูมัคเคอร์ มาประกอบ

             พระราชนิพนธ์แปลเรื่อง พระมหาชนก เสร็จสมบูรณ์เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้จัดพิมพ์ในโอกาสพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๓๙ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจประชาชนผู้มีจิตกุศล ให้เกิดความคิดในทางสร้างสรรค์ นอกจากนั้น ผู้อ่านยังได้รับอานิสงส์ มีความพากเพียรที่บริสุทธิ์ มีปัญญาเฉียบแหลม และพลานามัยสมบูรณ์

             พระปรีชาสามารถที่ทรงใช้ภาษาต่างๆ ได้อย่างเชี่ยวชาญเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ใจมาก แม้แต่ภาษาสันสกฤตซึ่งเป็นภาษาโบราณและศักดิ์สิทธิ์ของชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูก็ทรงศึกษารอบรู้อย่างลึกซึ้ง


                                      โครงการกังหันน้ำชัยพัฒนา


             โครงการกังหันน้ำชัยพัฒนา เริ่มต้นขึ้นเนื่องมาจากอัตราการเกิดมลภาวะทางน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นจนยากแก่การแก้ไข ทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดรอบนอก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงตระหนักถึงเรื่องนี้และทรงมีความเป็นห่วงในคุณภาพชีวิตพสกนิกรของท่าน จึงได้มีพระราชดำริเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาน้ำเสียขึ้นมาเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2531 โดยดำริให้สร้างเครื่องกลเพื่อช่วยเติมอากาศ โดยใช้รูปแบบที่เรียบง่ายแต่มีประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียสูงในนาม “กังหันน้ำชัยพัฒนา”

              กังหันน้ำชัยพัฒนา เริ่มต้นใช้งานครั้งแรกในกิจกรรมบำบัดน้ำเสียที่โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ และที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อปีพ.ศ. 2532 เพื่อทดสอบ ศึกษา วิจัยและพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียเป็นระยะเวลา 4 – 5 ปี

             กังหันน้ำชัยพัฒนาเป็นเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย (Chaipattana Low Speed Surface Aerator) ซึ่งเป็น Model RX-2 หมายถึง Royal Experiment แบบที่ 2 มีคุณสมบัติในการถ่ายเทออกซิเจนได้สูงถึง 1.2 กิโลกรัมของออกซิเจน/แรงม้า/ชั่วโมง สามารถนำไปใช้ในกิจกรรมปรับปรุงคุณภาพน้ำได้อย่างอเนกประสงค์ ติดตั้งง่าย เหมาะสำหรับใช้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ได้แก่ สระน้ำ หนองน้ำ คลอง บึง ลำห้วย ฯลฯ ที่มีความลึกมากกว่า 1.00 เมตร และมีความกว้างมากกว่า 3.00 เมตร


              โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการเกษตร

              แนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ คือการที่ทรงเน้นในเรื่องของการค้นคว้า ทดลอง และวิจัยหาพันธุ์พืชต่างๆ ใหม่ๆ ทั้งพืชเศรษฐกิจ เช่น หม่อนไหม ยางพาราฯลฯ ทั้งพืชเพื่อการปรับปรุงบำรุงดินและพืชสมุนไพร ตลอดจนการศึกษาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช ทั้งนี้รวมทั้งพันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่เหมาะสมเช่น โค กระบือ แพะ แกะ พันธุ์ปลา และสัตว์ปีกทั้งหลายด้วย เพื่อแนะนำให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติได้ราคาถูกและใช้เทคโนโลยีที่ง่ายและไม่สลับซับซ้อน ซึ่งเกษตรกรจะสามารถรับไปดำเนินการเองได้ และที่สำคัญคือ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ หรือเทคนิควิธีการดูแลต่างๆ นั้นต้องเหมาะสมกับสภาพสังคมและสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย

              อย่างไรก็ตามมีพระราชประสงค์เป็นประการแรก คือ การทำให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ โดยเฉพาะในด้านอาหารก่อนเป็นอันดับแรก เช่น ข้าว พืชผัก ผลไม้ ฯลฯ แนวทางที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การที่ทรงพยายามไม่ให้เกษตรกรพึ่งพาอยู่กับพืชเกษตรแต่เพียงอย่างเดียว เพราะจะเกิดความเสียหายง่าย เนื่องจากความแปรปรวนของตลาดและความไม่แน่นอนของธรรมชาติ ทางออกก็คือเกษตรกรควรจะต้องมีรายได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือไปจากภาคเกษตร เช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรมในครัวเรือนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งดำเนินงานสนับสนุนงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปัจจุบันสภาพของทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ ที่ดิน แหล่งน้ำ ให้อยู่ในสภาพที่จะมีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างมากที่สุด

              จากแนวทางและเป้าหมายดังกล่าวมีแนวพระราชดำริที่ถือเป็นหลักเกณฑ์หรือเทคนิควิธีการที่จะบรรลุถึงเป้าหมายนั้นหลายประการ

               ประการแรก ทรงเห็นว่าการพัฒนาการเกษตรที่จะได้ผลจริงนั้นจะต้องลงมือทดลองค้นคว้า ต้องปฏิบัติอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังพระราชดำรัสว่า '''.. เกษตรกรรมนี้ หรือ ความเป็นอยู่ของเกษตรนั้น ขอให้ปฏิบัติ ไม่ ใช่ ถือตำราเป็นสำคัญอย่างเดียว..สำหรับการค้นคว้าทดลองนั้น ได้ทรงเน้นให้มีทั้งก่อนการผลิตและหลังจากผลิตแล้ว คือพิจารณาดูตั้งแต่เรื่องความเหมาะสมของพืชความเหมาะสมของดิน พืชอย่างใดจะเหมาะกับดินประเภทใดรวมทั้งการค้นคว้าเกี่ยวกับความต้องการของตลาด คือการปลูกพืชที่ตลาดต้องการผลิตออกมาแล้วมีที่ขาย ส่วนการค้นคว้าวิจัยหลังการผลิต คือการดูเรื่องความสอดคล้องของตลาด เรื่องคุณภาพของผลผลิตหรือทำอย่างไรจึงจะ ให้เกษตรกรได้มีความรู้เบื้องต้นในด้านการบัญชีและธุรกิจการเกษตรในลักษณะที่พอจะทำธุรกิจแบบพึ่งตนเองได้สำหรับในเรื่องนี้ทรงเห็นว่าการรวมกลุ่มกันของเกษตรกรเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยได้เป็นอย่างดี

                อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตนั้น ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในระยะยาว พระราชประสงค์ของพระองค์ที่จะให้เกษตรกรได้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีสภาพชีวิตที่มีความสุข ไม่เคร่งเครียดกับการเร่งรัดให้เกิดความเจริญโดยรวดเร็ว นอกเหนือจากเรื่องที่ทรงเน้นในเรื่องการผลิตอาหารให้เพียงพอแล้ว จะเห็นได้ชัดเจนจากพระราชดำรัสที่ว่า ...ไม่จำเป็นต้องส่งเสริมผลผลิตให้ได้ปริมาณสูงสุดแต่เพียงอย่างเดียวเพราะเป็นการสิ้นเปลืองค่าโสหุ้ยและทำลายคุณภาพดิน แต่ควรศึกษาสภาวะตลาดการเกษตร ตลอดจนการควบคุมราคาผลิตผลไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน...

                เทคนิควิธีการในการพัฒนาการเกษตรของพระองค์อีกประการหนึ่งคือการที่ทรงใช้ประโยชน์จากธรรมชาติให้มากที่สุด เช่น การใช้ที่ดินที่ทิ้งไว้เปล่าๆ ให้เป็นประโยชน์หรือการมองหาประโยชน์จากธรรมชาติในสิ่งที่ผู้อื่นนึกไม่ถึง เช่น ครั้งหนึ่งทรงสนับสนุนให้มีการทำครั่งจากต้นจามจุรีที่ขึ้นอยู่ริมทางหลวงที่จะเสด็จฯ ไปพระราชวังไกลกังวล มีพระราชดำริว่า '''..เกิดจากความคิดที่จะเอาต้นก้ามปูมาทำให้ประชาชนมีงานทำแล้วร่วม เป็นกลุ่ม...''' การมุ่งใช้ประโยชน์จากธรรมชาติยังมีลักษณะสอดคล้องกับวิธีการที่สำคัญของพระองค์อีกประการหนึ่งคือ '''การประหยัด''' ทรงเน้นความจำเป็นที่จะลดค่าใช้จ่ายในการทำมาหากินของเกษตรกรลงให้เหลือน้อยที่สุดโดยอาศัยพึ่งพิงธรรมชาติเป็นปัจจัยสำคัญ

                วิธีการของพระองค์มีตั้งแต่การสนับสนุนให้เกษตรกรใช้โคกระบือในการทำนามากกว่าให้ใช้เครื่องจักร ให้มีการปลูกพืชหมุนเวียน โดยเฉพาะพืชตระกูลถั่วเพื่อลดค่าใช้จ่ายเรื่องปุ๋ยหรือกรณีที่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ย ก็ทรงสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยธรรมชาติแทนปุ๋ยเคมีซึ่งมีราคาแพงและมีผลกระทบต่อสภาพและคุณภาพของดินในระยะยาวนั่นคือทรงสนับสนุนให้ทำ '''การเกษตรยั่งยืน''' นอกจากนั้นยังทรงแนะนำในเรื่องการผลิตก๊าซชีวภาพอันจะมีผลดีทั้งในด้านเชื้อเพลิงและปุ๋ย รวมทั้งได้ทรงเน้นอยู่เสมอที่จะให้เกษตรกรมีรายได้เสริมหรือรายได้นอกเหนือจากการทำการเกษตรจากการหาวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น เช่น ไผ่ ย่านลิเพา ปาหนัน มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการจักสานเพื่อเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ของตนเอง

               โครงการพัฒนาด้านการเกษตรอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้นประกอบด้วยงานหลายประเภทซึ่งโดยทั่วๆ แล้วจะเป็นงานเกี่ยวกับการศึกษาค้นคว้า ทดลอง วิจัยหาพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่นั้นการดำเนินการส่วนใหญ่ดำเนินการอยู่ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และนำผลสำเร็จจากการศึกษาทดลองไปถ่ายทอดสู่ประชาชนด้วยการฝึกอบรมให้เกษตรกรมีความรู้ในวิชาการเกษตรแผนใหม่ นอกจากนั้นยังประกอบด้วยโครงการเพื่อการส่งเสริมการเกษตร เช่น โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวและทำนาขั้นบันได อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส หรือโครงการพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จ จังหวัดพระนครศรี อยุธยา เป็นต้น

              โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในด้านการพัฒนาการเกษตรที่กระจายอยู่ทั่วประเทศนั้น ได้ส่งผลโดยตรงต่อความกินดีอยู่ดีของเกษตรกรเป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นโครงการที่มุ่งแก้ปัญหาหลักด้านการพัฒนาการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้เกษตรกรได้มีโอกาสมากขึ้นในการเข้าถึงแหล่งความรู้ในด้านเทคนิคและวิชาการเกษตรสมัยใหม่ซึ่งแต่เดิมเกษตรกรไม่เคยมีโอกาสเช่นนี้มาก่อน รวมทั้งยังได้มีโอกาสเรียนรู้ และเห็นตัวอย่างของความสำเร็จของการผลิตในพื้นที่ต่างๆ และสามารถนำไปปรับใช้ในการเพาะปลูกของตนเองอย่างได้ผล ความเจริญของเกษตรกรและภาคเกษตรกรรมนี้ มิใช่มีจุดหมายในตัวเองเท่านั้นหากแต่ยังมีความหมายต่อความเจริญของภาคเศรษฐกิจแขนงอื่นและของประเทศชาติโดยส่วนรวมด้วย

                      ตัวอย่างโครงการในพระราชดำริ

             พลังงานทดแทน...พลังแห่งสายพระเนตร


                 ในปี พ.ศ.๒๕๑๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้นำแกลบที่ได้จากการสีข้าวของโรงสีข้าวตัวอย่างจากสวนจิตรลดา มาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงดิน และนำมาทำเป็นเชื้อเพลิงแท่ง จึงมีการจัดสร้างโรงบดแกลบขึ้นภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา การดำเนินงานในขั้นแรกเป็นการนำแกลบผสมปูนมาร์ลและปุ๋ยเคมี เพื่อใช้ในการปรับปรุงดิน ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๒๓ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาจัดซื้อเครื่องอัดแกลบให้เป็นแท่ง เพื่อนใช้แทนเชื้อเพลิงชนิดอื่น รวมทั้งจำหน่ายแก่บุคคลภายนอกโครงการแกลบอัดแท่งยังคงมีการทดลองและพัฒนาขั้นตอนการผลิตตามพระราชดำริอยู่ตลอดเวลา อย่างเช่นในปี พ.ศ.๒๕๒๘ มีพระราชดำริให้ทดลองอัดแกลบผสมผักตบชวา เพื่อทดลองนำผักตบชวาที่เป็นวัชพืชตามแหล่งน้ำมาทำเป็นเชื้อเพลิงแท่ง


โครงการแก้มลิง

                 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลตามแนวพระราชดำริ โดยประกอบด้วยโครงการขุดลอกคลองระบายน้ำและกำจัดวัชพืชโครงการปรับปรุงและก่อสร้างสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำ ตามที่ได้เกิดสภาวะน้ำท่วมหนัก ในลุ่ม แม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๘ อันสืบเนื่องมาจากฝนตกหนักในลุ่มน้ำตอนบน
ทำให้ปริมาณน้ำจำนวนมากไหลหลากท่วมพื้นที่อย่างรุนแรงในลุ่มแม่น้ำยมและน่านเสริมกับปริมาณน้ำล้นอ่างเก็บน้ำ
เขื่อนสิริกิติ์ไปหลากท่วมพื้นที่ทางด้านท้ายน้ำอย่างหนัก และส่งผล กระทบต่สภาวะน้ำท่วมในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง
ซึ่งรวมถึงเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เป็นเวลานานกว่า ๒ เดือน
                  คืนวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่ดูแลปัญหาน้ำท่วมเข้าเฝ้าฯ
เพื่อรับพระราชทานแนวพระราชดำริการป้องกันน้ำท่วม ในพื้นที่บริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล
                 โดยทรงเปรียบเทียบการ กินอาหารของลิงหลังจากที่ลิง เคี้ยวกล้วยแล้วจะยังไม่กลืน แต่จะเก็บไว้ภายในแก้มทั้งสองข้างแล้วค่อย ๆ ดุนกล้วยมากินในภายหลังเช่นเดียวกับกรณีการผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งน้ำที่ขึ้นมาตามซอยต่าง ๆ เมื่อน้ำทะเลหนุนให้ไปเก็บไว้ที่บึงใหญ่
ที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ชายทะเล และมีประตูน้ำขนาดใหญ่สำหรับปิดกั้นน้ำบริเวณแก้มลิงสำหรับฝั่งตะวันตกจะอยู่ที่คลองชายทะเล
ด้านฝั่งตะวันออกบริเวณแก้มลิงจะอยู่ที่คลองสรรพสามิต เมื่อเวลาน้ำทะเลลดลงให้เปิดประตูระบายน้ำออกไป บึงจะสามารถรับน้ำชุดใหม่ต่อไป

โครงการพระราชดำริฝนหลวง
 
                  โครงการพระราชดำริฝนหลวง เป็นโครงการที่ก่อกำเนิดจากพระมหากรุณาธิคุณที่ห่วงใยในความทุกข์ยากของพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดาร ที่ต้องประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และเกษตรกรรม อันเนื่องมาจากภาวะแห้งแล้ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากความผันแปร และความคลาดเคลื่อนของฤดูกาลตามธรรมชาติ

                   นับตั้งแต่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ได้รับสนองพระราชดำริไปดำเนินการศึกษาค้นคว้าทดลองโปรยสารเคมีด้วยเครื่องบินเป็นครั้งแรก ณ วนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เมื่อ ๒ กรกฎาคม ๒๕๑๒ จากนั้นเป็นต้นมา ก็มีการขยายผลการปฏิบัติไปช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ เป็นประจำทุกปี จนรัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกา ก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘

                   พระราชกรณียกิจที่เกี่ยวกับฝนหลวง เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่วางแผนสาธิตการทำฝนหลวงลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ให้ผู้แทนจากประเทศสิงคโปร์ชมวางแผนปฏิบัติการด้วยพระองค์เอง สามารถทำให้ฝนตกลงสู่พื้นที่เป้าหมายอ่างเก็บน้ำได้อย่างแม่นยำภายในเวลาที่กำหนด

                    ภารกิจของสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงมีเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ และเพื่อให้การปฏิบัติงานมีความคล่องตัวยิ่งขึ้น เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕ คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบให้รวมสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงกับกองบินเกษตรเข้าเป็นหน่วยงานเดียว ชื่อว่า "สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร"

                     กองทัพอากาศได้เข้ามารับสนองพระราชดำริในโครงการฝนหลวงอย่างจริงจัง ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๕ เนื่องจากในปีนั้นได้เกิดภาวะฝนแล้งผิดปกติในฤดูเพาะปลูก และเกิดขาดแคลนน้ำอย่างหนัก กองทัพอากาศจึงได้จัดเครื่องบินพร้อมเจ้าหน้าที่สนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวงตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร้องขอ จนถึง พ.ศ.๒๕๓๗ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับจากโครงการฝนหลวงในพระราชดำริ จึงได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงกองทัพอากาศขึ้น เพื่อวางแผน อำนวยการ ควบคุม กำกับการ และประสานการปฏิบัติร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์   ในการปฏิบัติการฝนหลวงของกองทัพอากาศ มิใช่เพียงการใช้เครื่องบินและกำลังพลเข้าปฏิบัติการเท่านั้น หากแต่ยังได้จัดทำ
  • โครงการวิจัยและพัฒนากระสุนสารเคมีซิลเวร์ไอโอไดด์ ที่ใช้กับเครื่องบินที่ปฏิบัติการทำฝนหลวงในเมฆเย็น
  • โครงการวิจัยควบคุมดินฟ้าอากาศ แนววิจัยโครงการนี้คือ การนำสารเคมีขึ้นไปโปรยในท้องฟ้า ทำให้เมฆรวมตัวและก่อให้เกิดฝนตกได้ ถึงแม้ว่าในขณะนั้นท้องฟ้าจะไม่มีเมฆเลยก็ตาม ซึ่งกองทัพอากาศสามารถผลิตจรวดที่นำสารเคมีบรรจุในหัวจรวด แล้วยิงขึ้นฟ้าที่ระดับความสูง ๑-๑.๕ กม.

                     ในช่วงฤดูแล้งของ พ.ศ.๒๕๓๐ ได้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคอย่างรุนแรงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในพื้นที่ ๘ จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาวะดังกล่าวได้สร้างความเดือดร้อนทุกข์ยากให้ประชาชนอย่างหนัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานกระแสพระราชดำรัสแก่ ผู้บัญชาการทหารบก เมื่อ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๐ ให้หาลู่ทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็วด้วย อันนำไปสู่โครงการน้ำพระทัยจากในหลวง หรือโครงการอีสานเขียว

                      ในปีเดียวกันนี้เอง กองทัพเรือก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมปฏิบัติงานในโครงการปฏิบัติฝนหลวงพิเศษตามพระราชดำริ ภายใต้โครงการน้ำพระทัยจากในหลวง หรือโครงการอีสานเขียว และในทุกปีที่ผ่านมา ในส่วนของกองเรือยุทธการ จะทำพิธีส่งเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษกองทัพเรือ ประมาณต้นเดือนมีนาคม ณ กองการบินทหารเรือ จะมีโอกาสอวดธงราชนาวีเหนือน่านฟ้าของไทย ในภารกิจบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน

                      บัดนี้ โครงการฝนหลวงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวพระราชดำริไว้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๘ ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลแก่อาณาประชาราษฎร์ ช่วยให้พื้นที่ที่เคยแห้งแล้งกลับมีความชุ่มชื่น ก่อให้เกิดความชุ่มฉ่ำแก่แผ่นดิน แม้แต่น้ำในเขื่อนต่างๆ ที่ใกล้จะหมดก็มีปริมาณมากขึ้น ทั้งนี้ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาญาณ ในพระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช อย่างแท้จริง


    เมื่อปี2543คณะรัฐมนตรีมีมีมติเห็นชอบถวายการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัวในฐานะที่ทรงเป็น "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย " โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. พร้อมทั้งกำหนดให้วันที่ 19 ต.ค. ของทุกปีเป็น "วันเทคโนโลยีของไทย" ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่ครั้งแรก
ของโลกที่เขื่อนแก่งกระจานและสามารถบังคับให้ฝนตกลงตรงเป้าหมายจนประสบความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ในพระปรีชาสามารถ    


โครงการในพระราชดำริของในหลวง          
              ตลอด60ปีภายใต้ร่มฉัตรแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพสกนิกรชาวไทยต่างซาบซึ้ง ในพระมหากรุณาธิคุณและต่างรู้ซึ้งถึงพระอัจฉริยภาพรอบด้านของพระองค์โครงการ
พระราชดำริหลายโครงการนอกจากจะแสดงถึงความห่วงใยของพระองค์ที่ทรงมีต่อปวงชน
ชาวไทยแล้วยังยืนยันถึงพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย เนื่องในวโรกาสสำคัญแห่งการฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี“ ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ”ขอน้อมรำลึกถึงพระอัจฉริยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์




        และเทคโนโลยีผ่านโครงการพระราชดำริที่สำคัญๆซึ่งทำให้คนไทยได้ประจักษ์ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเข้าถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างถ่องแท้และทรงปรับใช้วิทยาศาสตร์แลเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ของพสกนิกรให้อยู่ดีกินดีตามวิถีแห่งความพอเพียงตลอดมา


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น